ขยะแผงโซลาร์ล้นโลก คาดปี 2050 เพิ่มเป็น 200 ล้านตัน ส่วนมากถูกฝังเป็นมลพิษ
แผงโซลาร์เซลล์ที่กำลังจะหมดอายุทั่วโลกกำลังจะกลายเป็นปัญหาขยะในอนาคตข้างหน้า เพราะในปัจจุบันโลกยังไม่สามารถนำแผงโซลาร์มารีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทส่วนมากต้องกำจัดแผงโซลาร์ด้วยการฝังกลบ ซึ่งในอนาคตจะเป็นพิษต่อดินเพราะมีการรั่วไหลของโลหะ
ในปัจจุบัน ทั้งธุรกิจและครัวเรือนทั่วโลกหันมาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้ากันมากขึ้น เพราะเริ่มมีราคาถูกลง และเป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังสะอาด คือพลังแสงอาทิตย์ ที่ไม่ หรือแทบจะไม่ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าที่สะอาดและดีต่อสิ่งแวดล้อม แผงโซลาร์ก็ไม่ใช่พระเอกขี่ม้าขาวสำหรับปัญหาโลกร้อน เพราะปัจจุบันแผงโซลาร์ทั่วไปมีอายุการใช้งานประมาณ 25-30 ปี ทำให้ในอนาคตโลกจะต้องรับมือกับขยะแผงโซลาร์จำนวนมหาศาล เมื่อคิดจากอัตราการติดตั้งแผงโซลาร์ในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยจากข้อมูลของดร. Rong Deng ผู้เชี่ยวชาญด้านการรีไซเคิลแผงโซลาร์จาก University of New South Wales ในออสเตรเลีย ในปัจจุบัน โลกมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์แล้วทั้งหมดมากกว่า 1 เทราวัตต์ (1 ล้านล้านวัตต์) คิดเป็นแผงโซลาร์ประมาณ 2.3 พันล้านแผง แต่นั่นก็เป็นในกรณีที่คนทั่วไปใช้แผงโซลาร์จนสิ้นอายุขัยของมัน
Ute Collier ผู้อำนวยการของ International Renewable Energy Agency กล่าวว่า มีโอกาสสูงที่แผงโซลาร์ทั่วโลกจะถูกปลดประจำการก่อนวัยอันควร เพราะเมื่อมีแผงโซลาร์ที่ประสิทธิภาพดีกว่า หรือคุณภาพคุ้มค่าคุ้มราคากว่าออกมา คนก็อาจจะนำแผงโซลาร์ที่ใช้อยู่ไปทิ้งเร็วกว่าที่ควรจะเป็น และซ้ำเติมให้ปัญหาเลวร้ายลงไปอีก
จากการคาดการณ์ของ Collier ในปี 2030 ทั้งโลกจะต้องรับมือกับขยะโซลาร์ปริมาณถึง 4 ล้านตัน ซึ่งในปี 2050 มีสิทธิจะเพิ่มไปเป็นถึง 200 ล้านตันเลยทีเดียวหากผู้ผลิตทั่วโลกไม่เร่งคิดหาวิธีจัดการกับแผงโซลาร์เหล่านี้อย่างเหมาะสม
ธุรกิจรีไซเคิลแผงโซลาร์มาแรง คาดมูลค่าตลาดเพิ่มเป็นกว่า 9.5 หมื่นลบ.ภายใน 2030
ปัจจุบัน แผงโซลาร์กว่า 90% ที่หมดอายุแล้วทั่วโลกถูกแยกชิ้นส่วน แล้วฝังดิน ซึ่งเป็นอันตรายต่อดิน และผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบเพราะในแผงโซลาร์มีโลหะหนักเช่น แคดเมียม และตะกั่ว ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์
โดยในไทยเอง จากข้อมูลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นับจากปี 2021 ถึงปี 2057 ประเทศไทยจะมีแผงโซลาร์เซลล์ทยอยหมดอายุประมาณ 620,000 – 790,000 ตัน และเพิ่มเป็น 1.55 ล้านตัน และไทยยังไม่มีเทคโนโลยีในการจัดการขยะเหล่านี้อย่างเหมาะสม และกำจัดด้วยการแยกชิ้นส่วนแล้วฝังดินเช่นกัน
นี่ทำให้หลายบริษัททั่วโลกเริ่มสนใจลงทุนกับเทคโนโลยีในการรีไซเคิลแผงโซลาร์ ซึ่งทำได้โดยการแยกโลหะมีค่า เช่น ทองแดง ซิลิคอน และเงิน ออกมา และนำไปขายต่อให้กับผู้ผลิตเพื่อผลิตแผงโซลาร์แผงใหม่ หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อได้
จากการรายงานของ CNBC ในปัจจุบันมีหลายๆ บริษัทในยุโรปและสหรัฐฯ เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีในการแยกวัสดุขึ้นมารีไซเคิลแผงโซลาร์ได้สำเร็จแล้ว เช่น องค์กร Soren และ ROSI ของฝรั่งเศส และบริษัท Solarcycle ของสหรัฐฯ
โดยจากการศึกษาของ Rystad Energy บริษัทวิจัยด้านพลังงานจากนอร์เวย์ ในปี 2030 ตลาดวัสดุรีไซเคิลจากแผงโซลาร์จะมีมูลค่าถึง 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9.5 หมื่นล้านบาท จากในปัจจุบันที่มีมูลค่า 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มไปเป็นถึง 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2050 ทำให้อุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการทำเงินมากในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในการรีไซเคิลแผงโซลาร์มากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ ‘ค่าใช้จ่ายที่สูง’ เพราะเทคโนโลยีในการแยกชิ้นส่วนจากแผงโซลาร์ยังเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่และมีราคาแพง ทำให้ทั้งโลกมีโรงงานรีไซเคิลอยู่ไม่กี่ที่ นี่ทำให้บริษัทที่อยากส่งแผงโซลาร์ไปรีไซเคิลต้องรับต้นทุนในการขนส่งเพิ่มขึ้น และอาจจะเลือกทำลายแผงโซลาร์ด้วยการฝังกลบเหมือนเดิม เพราะมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาก
นี่ทำให้รัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั่วโลกควรจะเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลแผงโซลาร์ให้แพร่หลาย และเข้าถึงได้ทั่วโลก เพราะนอกจากการปล่อยให้มีการผังกลบแผงโซลาร์จะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังจะเป็นการทำให้ประเทศเสียโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตในอนาคต
อ้างอิง: BBC, CNBC, Harvard Business Review
อ่านข่าวต้นฉบับ:
อมรินทร์ทีวี ทันข่าวได้ที่
เว็บไซต์:www.amarintv.com