ข่าวสาร/กิจกรรมต่างๆ

‘ไมโครพลาสติก’ ปนเปื้อนทุกลมหายใจ ซึมลึกเข้าทำลาย ‘ปอด’

By กฤตพล สุธีภัทรกุล11 พ.ค. 2024 เวลา 11:11 น.

 

มลพิษจากจาก “ไมโครพลาสติก” อาจคืบคลานเข้าสู่ปอดของเราได้ทุกลมหายใจ เพราะการสูดอากาศหายใจ เป็นวิธีที่มนุษย์จะได้รับพลาสติกมากที่สุด

 

ไมโครพลาสติก” และ “นาโนพลาสติก” มลพิษจากพลาสติกที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศ สามารถเดินทางไปทั่วโลก แม้แต่บนยอดเขาเอเวอเรสต์ ขั้วโลกเหนือ ใต้มหาสมุทรและบนก้อนเมฆก็ยังพบอนุภาคพลาสติกปะปนอยู่ ดังนั้นทุกการหายใจเข้าออกของเรา จึงมีโอกาสที่เราจะสูดดมชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของพลาสติกเหล่านี้เข้าไป การศึกษาล่าสุดนำโดย ดร.สุวัส ซาฮา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ เผยให้เห็นเส้นทางที่มลพิษขนาดจิ๋วเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายของเราและความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ชิ้นดังกล่าว ใช้พลศาสตร์ของไหลและอนุภาคเชิงคำนวณ (CFPD) ในการสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์จำลองสถานการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเราหายใจเอาไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกาย และเมื่อมันเข้าไปอยู่ในร่างกายของเราแล้วจะไปส่วนใด

“ขณะนี้มลภาวะทางอากาศจากอนุภาคพลาสติกแพร่กระจายไปทั่วโลก และการสูดดมถือเป็นหนึ่งในวิธีสารเหล่านี้จะเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้มากที่สุด ไม่ต่างจากการกินและดื่ม” ดร.สุวัส ซาฮา ผู้เขียนนำในงานวิจัยกล่าว

 

“ไมโครพลาสติก” อยู่ทุกที่

ไมโครพลาสติก ชิ้นส่วนพลาสติกขนาดไม่เกิน 5 มิลลิเมตร และนาโนพลาสติก พลาสติกขนาดเล็กกว่าเส้นผมและตรวจจับได้ยาก ลอยฟุ้งอยู่ทั้งในสภาพแวดล้อมกลางแจ้งและในร่ม ซึ่งหมายความว่านี่เป็นปัญหาที่ทุกคนในโลกสามารถสัมผัสได้ หากพลาสติกแตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ มากพอ ผักและผลไม้จะสามารถดูดซับไมโครพลาสติกผ่านระบบรากของมัน เช่นเดียวกับสัตว์ต่าง ๆ ที่เผลอกินไมโครพลาสติกเข้าไปโดยที่ไม่รู้ตัว เมื่อพืชและสัตว์เหล่านี้กลายเป็นอาหารของมนุษย์ ก็จะส่งมอบไมโครพลาสติกมาให้มนุษย์ด้วยเช่นกัน

ดร.ซาฮา ระบุว่า ไมโครพลาสติกในสิ่งทอสังเคราะห์เป็นอนุภาคพลาสติกที่พบได้มากที่สุดในอากาศภายในอาคาร ส่วนสภาพแวดล้อมภายนอก มีอนุภาคหลากหลายชนิดมากมายลอยอยู่ ตั้งแต่ฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนจากมหาสมุทร ไปจนถึงอนุภาคที่เกิดจากการบำบัดน้ำเสีย

ก่อนหน้านี้ มีงานการวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า ไมโครพลาสติกถูกพบในปอดของมนุษย์ เนื้อเยื่อรกของมารดาและทารกในครรภ์ นมแม่ และเลือดของมนุษย์ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่านาโนพลาสติกเป็นมลพิษจากพลาสติกประเภทที่น่าเป็นห่วงที่สุดต่อสุขภาพของมนุษย์

ไมโครพลาสติกส่วนใหญ่ที่เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ส่วนมากมาจากเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลหลายประเภท เช่น โฟมล้างหน้า ยาสีฟันที่มีเม็ดบีดส์ผสมอยู่ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์พลาสติกต่าง ๆ ที่สามารถแตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ ได้ เช่น ขวดน้ำ บรรจุภัณฑ์อาหาร และเสื้อผ้า

 

“ไมโครพลาสติก” เข้าสู่ร่างกายในทุกลมหายใจ

การศึกษาพบว่า รูปแบบการหายใจที่ต่างกันจะทำให้ไมโครพลาสติกเหล่านี้เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจแตกต่างกัน การหายใจเร็วจะทำให้อากาศไหลผ่านจมูกและลำคออย่างรวดเร็ว อาจทำให้อนุภาคพลาสติกขนาดใหญ่เข้าไปติดในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ว่าจะเป็นโพรงจมูก กล่องเสียง

ขณะที่ การหายใจช้าลงจะทำให้อนุภาคมีขนาดเล็กลง โดยเฉพาะนาโนพลาสติกสามารถเข้าไปในระบบทางเดินหายใจได้ลึกมากขึ้น อาจเข้าไปถึงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อนของปอด เช่น เยื่อหุ้มปอด ถุงลมได้

นอกจากนี้ รูปร่างของไมโครพลาสติกก็มีส่วนสำคัญเช่นกันว่าจะทำให้พลาสติกเข้าไปได้ถึงจุดใด เศษไมโครพลาสติกที่มีรูปร่างอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทรงกลมมีแนวโน้มที่จะสามารถหลุดรอดผ่านกลไกการกรองตามธรรมชาติของร่างกายได้ดีกว่า

การวิจัยชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอนุภาคพลาสติกเหล่านี้ช่วยเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้ปอดผิดปรกติเร็วขึ้น รวมถึงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เกิดพังผืดในปอด หายใจลำบาก (Dyspnea) โรคหอบหืด และ มีรอยทึบแบบกระจกฝ้า (ground glass opacity: GGO) ซึ่งเป็นรอยโรคผิดปรกติในปอด สามารถบ่งบอกถึงการอักเสบหรือโรคปอดระยะเริ่มแรก

“การค้นพบนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพิจารณาอัตราการหายใจและขนาดอนุภาคในการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสทางเดินหายใจกับอนุภาคนาโนและไมโครพลาสติก” ดร.ซาฮา กล่าวสรุป

 

ที่มา: EarthEuro NewsPhys

 

อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1126179 : กรุงเทพธุรกิจ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น