ข่าวสาร/กิจกรรมต่างๆ

‘ยางรถยนต์’ ปล่อย ‘ไมโครพลาสติก’ ลงทะเลมากที่สุด ทำปลาเกือบสูญพันธุ์

By กฤตพล สุธีภัทรกุล    23 พ.ค. 2024 เวลา 18:59 น.

รายงานพบว่า 78% ของ “ไมโครพลาสติก” ในมหาสมุทรมาจาก “ยางรถยนต์” ตัวการทำให้ปลาแซลมอนในสหรัฐสูญพันธุ์ พร้อมเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์

 

แต่ละปี “ยางรถยนต์” ถูกผลิตออกมา 2,000 ล้านเส้น ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล โดยเฉพาะเมื่อใช้ยางไปเรื่อยๆ ยางที่สึกหรอจากการเสียดสีกับพื้นถนนจะแตกตัวออกมาเป็น “ไมโครพลาสติก” ชิ้นเล็กๆ หลุดออกมา และปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ

รายงานประจำปี 2020 จาก Pew Charitable Trust บริษัทวิจัย พบว่าไมโครพลาสติกในมหาสมุทร 78% มาจากยางรถยนต์ โดยส่วนใหญ่ยางรถยนต์ผลิตจากยางสังเคราะห์ ซึ่งถือเป็นพลาสติกรูปแบบหนึ่งที่เกิดจากปิโตรเลียม อีกทั้งยางเหล่านี้ไม่ได้ปล่อยออกมาแค่ไมโครพลาสติกเท่านั้น เพราะงานวิจัยใหม่จาก Yale Environment 360 แสดงให้เห็นว่า ยางรถยนต์ปลดปล่อย “สารเคมี” หลายชนิด ซึ่งรวมถึงโลหะหนัก เช่น ทองแดง ตะกั่ว และสังกะสี

 

ยางรถยนต์สร้างความเสียหายต่อธรรมชาติ

การสูญพันธุ์ของปลาแซลมอนในลำธารชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ในช่วงสองทศวรรษที่แล้ว ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณอันตรายแรกๆ เกิดขึ้นจากยางรถยนต์

ในปี 2020 นักวิจัยพบว่า สารเคมี “6PPD” ที่เติมลงในยางเพื่อป้องกันไม่ให้ยางแตก เมื่อสารเติมแต่งเสื่อมสภาพปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมทำปฏิกิริยากับโอโซน เปลี่ยนสภาพเป็นสารพิษที่เรียกว่า “6PPD-quinone” เมื่อไหลลงสู่แหล่งน้ำในช่วงฝนตก และพายุ เป็นพิษเฉียบพลันต่อปลาหลายชนิด ทำให้ สภาชนเผ่าพายัลลัป ชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันออกแถลงการณ์ให้สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม หรือ EPA แบนการใช้สาร 6PPD ตัวการทำลายสายพันธุ์ปลาแซลมอน

ยางรถยนต์หนึ่งเส้นมีสารเคมี และสารประกอบมากกว่า 400 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารก่อมะเร็ง โดยข้อมูลจากบริษัทในสหราชอาณาจักรระบุว่า ในระยะเพียง 1 กิโลเมตร ยางทั้ง 4 ล้อของรถยนต์ปล่อยอนุภาคขนาดเล็กพิเศษมากกว่า 1 ล้านล้านอนุภาค ซึ่งอนุภาคเหล่านี้มีขนาดเล็กมากจนสามารถผ่านเนื้อเยื่อปอดเข้าสู่กระแสเลือด และตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง หรือ BBB ได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่น่ากังวลหลายประการ

นอกจากนี้ มลภาวะฝุ่นยางยังเทียบได้กับการปล่อยไอเสียจากรถยนต์ การศึกษาชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าการปล่อย PM 2.5 และ PM 10 จากยาง และเบรก มีมากกว่าปริมาณการปล่อยมลพิษเหล่านี้จากท่อไอเสียในแคลิฟอร์เนียเสียอีก

ขณะที่การศึกษาล่าสุดจากวิทยาลัยอิมพีเรียล ลอนดอน ระบุว่า การลดจำนวนอนุภาคจากการสึกของยางล้อและถนน หรือ TWP มีความสำคัญพอๆ กับการลดการปล่อยไอเสียจากรถยนต์

 

วิธีวัดระดับไมโครพลาสติกจากยางรถยนต์ในแม่น้ำ

ไมโครพลาสติกในยางรถยนต์เป็นหนึ่งในพลาสติกที่พบได้มากที่สุดในแหล่งน้ำ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์ป่าที่กลืนเข้าไปในอนุภาคดังกล่าวเข้าไป โดยสารเคมีที่เป็นพิษในไมโครพลาสติกเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับการตายของปลาแซลมอนในสหรัฐ และปลาเทราต์ในแคนาดา

นักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์นิเวศวิทยาและอุทกวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร หรือ UKCEH พัฒนาวิธีการตรวจสอบว่าสารเคมีที่เป็นพิษที่ใช้ในยางรถยนต์นั้นมีอยู่ในแม่น้ำ ลำธาร และทะเลสาบหรือไม่ รวมถึงใช้วัดความเข้มข้นของสารเคมี

ดร.ริชาร์ด ครอส นักวิทยาศาสตร์ด้านมลพิษของ UKCEH อธิบายว่า “จากมุมมองทางวิทยาศาสตร์ ยางรถยนต์เป็นวัสดุที่ท้าทายในการตรวจสอบ เพราะผู้ผลิตยางรถยนต์แต่ละรายใช้สูตรแตกต่างกัน และเป็นความลับทางการค้า จึงเป็นเรื่องยากที่จะสามารถรู้ได้”

อย่างไรก็ตาม มีสารแต่งเติมพื้นฐานบางชนิดที่ถูกใช้ในการผลิตยางรถยนต์เกือบทุกรุ่น หนึ่งในสารดังกล่าว คือ “6PPD” ซึ่งเป็นสารเติมแต่งที่ถูกใช้เฉพาะกับยางเท่านั้น ไม่ได้ถูกใช้กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ และใช้ในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงใช้ 6PPD เป็นตัวกำหนดว่ามีชิ้นส่วนยางอยู่ในตัวอย่าง

ตั้งแต่ปี 2022 นักวิทยาศาสตร์จาก UKCEH เก็บตัวอย่างน้ำในแม่น้ำเทมส์ จากวอลลิงฟอร์ด และออกซฟอร์ดเชอร์ รวมถึงแม่น้ำเอิร์กในแมนเชสเตอร์ พบว่า อนุภาคจากยางรถยนต์ และการสึกหรอของผิวถนนมีความหนาแน่น และมีขนาดค่อนข้างใหญ่ จนสามารถก่อตัวเป็นตะกอนในแม่น้ำอย่างรวดเร็ว โดยตะกอนในแม่น้ำมีหลากหลายรูปแบบ และสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้อยากรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตก

ทีมนักวิจัยพบความแตกต่างของตะกอนจากแหล่งน้ำทั้ง 3 โดยน้ำจากแม่น้ำเอิร์กมีการปนเปื้อนมากกว่าน้ำในแม่น้ำเทมส์จากเมืองวอลลิงฟอร์ด เมื่อพิจารณารายละเอียดว่าสถานที่แต่ละแห่งมีความแปรผันอย่างไร ทีมงานได้เสนอแนวทางในการนำวิธีการสุ่มตัวอย่างไปใช้ในอนาคต เพื่อตรวจจับ วัด และระบุปริมาณการมีอยู่ของ 6PPD และวัดปริมาณในแหล่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกเหนือจากงานนี้ UKCEH ยังสามารถใช้การออกแบบการสุ่มตัวอย่างเดียวกันเพื่อหาปริมาณชิ้นส่วนไมโครพลาสติกอื่นๆ ทั้งในน้ำ และตะกอน ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการทำความเข้าใจขอบเขตของมลภาวะของอนุภาคจากการสึกหรอของยาง เมื่อเปรียบเทียบกับมลพิษไมโครพลาสติกในแม่น้ำเหล่านี้

 

แนวทางแก้ปัญหามลพิษจากยางรถยนต์

การจัดการกับ TWP จําเป็นต้องมีการผสมผสานระหว่างการวิจัย และการบังคับใช้กฎหมาย ในด้านนวัตกรรมเชิงนิเวศ นักวิจัยได้ทดลองนำวัสดุธรรมชาติมาใช้ในการผลิตยางมากยิ่งขึ้น บริษัทผลิตยางของเยอรมนีอย่าง Continental Tire Company กําลังผลักดันโซลูชันนี้ ด้วยการนำรากดอกแดนดิไลออนมาใช้ผลิตยางจักรยาน ซึ่งได้รับการพิสูจน์จาก Emissions Analytics แล้วว่าช่วยลดการปล่อยสารประกอบก่อมะเร็งน้อยลง 25% แต่ยังคงต้องการสารเติมแต่ง 6PPD อยู่

ในสหราชอาณาจักร The Tyre Collective สตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีสะอาด คิดค้นอุปกรณ์ที่ติดอยู่กับยางแต่ละเส้น โดยใช้ไฟฟ้าสถิต และกระแสลมของล้อหมุน ในการเก็บฝุ่นยางที่หลุดลอกออกมา ซึ่งสามารถนำเอาอนุภาคที่เก็บรวบรวมได้มารีไซเคิลเป็นยางหลากหลายชนิด รวมถึงยางรถยนต์เส้นใหม่

แม้บริษัทต่างๆ จะพยายามคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยโลก แต่ก็ยังไม่สามารถคิดค้นทางออกจากมลพิษจากไมโครพลาสติกในยางได้ ดังนั้นจึงจําเป็นต้องมีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น

ในปี 2025 สหภาพยุโรปจะบังคับใช้ กฎ “ยูโร 7” มาตรฐานการปล่อยมลพิษครั้งแรกในโลก โดยกำหนดขีดจำกัดสำหรับการปล่อยอนุภาคจากเบรก และการปล่อยไมโครพลาสติกจากยาง และมาตรฐานดังกล่าวจะบังคับใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าด้วย

 

ที่มา: Euro NewsPhysReuters

พิสูจน์อักษร….สุรีย์  ศิลาวงษ์

 

อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1128232 : กรุงเทพธุรกิจ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น